วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิชาชีพสถาปนิกในทัศนคติของข้าพเจ้า


" สถาปนิก "

 "ออกก้าวเดิน" 

 "บนเส้นทาง" 

 "สู่จุดหมาย"

......


   ในกลางดึกของวันที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยความมืดมิด บางครั้งความเงียบสงบของตอนกลางคืนก็ทำให้เราสามารถใช้เวลาครู่คิดอะไรบางอย่างได้มากกว่าปกติ ความคิดหลายๆสิ่งในหัวไหลย้อนกลับไปกลับมาและเริ่มหลอมรวมเป็นเรื่องราว เน็ตบุ้คคู่ใจถูกเปิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หน้าเวบบล็อคถูกสร้างอย่างไม่รีรอ ตัวหนังสือถูกพิมพ์โดยไม่ยั้งคิด

การแข่งขันกีฬาสี ตอน ม.6 สนุกสนานเฮฮากับเพื่อนเป็นครั้งสุดท้าย   เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในช่วงชีวิตที่ถูกเรียกว่า"วัยรุ่น ม.ปลาย" ทุกคนต่างค้นหาในสิ่งที่ตนเองชอบและใฝ่ฝัน ส่วนสายตาของฉันกลับจับจ้องไปที่กระดาษเอสี่สีขาว ในมือกำดินสอไม้ปลายแหลม ความงียบสงบไหลเข้ามาสู่จิตใจ ฉันไม่อาจปฎิเสธได้ว่า การใช้ชีวิตอยู่กับดินสอและกระดาษนี้ มีความสุขมากเพียงใด การคิดและสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ฉันโปรดปรานเสมอ เมื่อเปรียบกับการท่องจำ จนทำให้ไม่แปลกเลยที่วิชาสายคำนวณอย่างคณิตศาสตร์ หรือแม้กระทั่งฟิสิกส์ ฉันจะสามารถขว้าเกรด4มาได้อย่างง่ายดายต่างจากวิชาภาษาอังกฤษ หรือสังคมที่เน้นไปที่การท่องจำที่คะแนนขุดยังไงก็ไม่ขึ้น  ทำให้ฉันค่อนข้างมั่นใจว่า " ชีวิตมหาลัย ต้องไม่ใช่คณะสายท่องจำแน่ๆ"

   จนสุดท้าย ทางเลือกของฉันก็มาจบที่คำว่า"คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์" คณะที่รวมเอาความชอบทั้งมวลของฉันมารวมกัน  การเรียนที่เน้นไปที่ความเข้าใจหลักการต่างๆ แต่ไม่ทิ้งในส่วนของศิลปะ และเมื่อยิ่งดูงานแสดงผลงานต่างๆของนักศึกษารุ่นพี่ หัวใจของฉันก็ยิ่งพองโตขึ้น ความสวยงามที่อยู่บนรากฐานของประโยชน์ใช้สอยเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับฉัน

   หลังจากนั้นฉันก็ใช้เวลา 2 ปีด้วยการสนับสนุนของคุณแม่ ฝึกฝน หาข้อมูล และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคณะนี้ และในที่สุดก็นำมาซึ่งความสำเร็จ ฉันสามารถสอบติดสอบตรง "คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง" ได้อย่างคาดไม่ถึง แต่"คณะในฝันของฉัน" ก็อาจจะไม่สวยหรูดังที่วาดฝันเอาไว้....

  ทางเดินของชีวิตมหาลัยเปรียบเหมือนบันไดที่ส่งเราจากความเป็น "เด็ก" สู่การเติบโตเป็น "ผู้ใหญ่"

  บันไดขั้นที่1....." ก้าวแรกมักจะยากเสมอ "

   การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความหวาดกลัว ความเชื่อมั่นต่างๆถูกบั่นทอนลงในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป กฏเกณฑ์แปลกใหม่ถูกสอดแทรกเข้ามาในการใช้ชีวิต อาคารสองชั้นเก่าๆที่มีชื่อว่า"Studio 1"กลายมาเป็นบ้านหลังที่ 2 การทำงานหามรุ่งหามค่ำเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน

   แต่ปัญหาสำคัญที่ฉันพบกลับไม่ใช่เรื่องการเรียนแต่อย่างใด "การปรัปตัวกับสภาพสังคมใหม่"ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วนัก ต้องยอมรับว่า การมาจากโรงเรียนหญิงล้วนที่มีสภาพสังคมของผู้หญิงที่จุกจิก คิดมาก ซึ่งแตกต่างกับสังคมสถาปัตย์ที่มีความคิดที่เป็นปัจเจกชนอยู่มาก  จนทำให้บางครั้งฉันตกเป็นสภาวะ"ทำตัวไม่ถูก" รูปลักษณ์ที่แสดงออกมาในช่วงแรกๆจึงกลายเป็นคน"เงียบๆ ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจา"  แต่สุดท้ายเวลาก็เป็นตัวช่วยแก้ไขในเรื่องนี้และพบว่า"คณะนี้แหละคือ บ้านที่พร้อมจะมอบความอบอุ่นให้เราตลอดเวลา" (และกลายเป็นรมย์รวีอย่างทุกวันนี้ ฮา)

  ส่วนในเรื่องของการเรียน ด้วยนิสัยค่อนข้างใจร้อนของฉันจึงทำให้วิชาการเขียนแบบ หรือที่เรียกว่า"Drawing"กลายเป็นวิชาคู่อาฆาตอย่างง่ายดาย ดินสอDraftราคา100อัพถูกเหลาจนแหลม ขีดเส้นอย่างบรรจง สานอย่างตั้งใจจนกลายเป็นเงาบนวัตถุ เป็นเรื่องที่ทรมาณฉันมาตลอดปี1เทอมต้น อีกทั้งความสามารถในการทำงานวิชา Design ที่ค่อนข้างช้าและไม่ค่อยเป็นดังหวัง แต่ทุกครั้งเมื่อเกิดความอ่อนล้าเมื่อทำงานจะมีเสียงหนึ่งดังข้ามความโหวกเหวกในสตู "เดือดอีกแล้วเหรอ !!" หญิงสาวผมยาวร่างเล็ก เดินมาที่โต๊ะของฉันอย่างไม่ลังเล คำบ่น ปนกวนตีนหลุดออกมาจากปากของเธอ หากแต่ในมือของเธอกลับถือกาวหลอดเล็กและบรรจงใช้มันอย่างตั้งใจจนสุดท้ายงานจะลุล่วงไปด้วยดี สิ่งเหล่านั้นเองที่สอนให้ฉันเรียนรู้ถึง "ความอบอุ่นของสายรหัส และความสัมพันธ์ของพี่น้องที่มีให้กันในคณะ"

  ชีวิตปี1 หมดไปอย่างรวดเร็ว"ก้าวแรกของฉันอาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายดังที่คิด แต่ทว่าตามทางกลับมีดอกหญ้าดอกน้อยๆให้ชื่นชมแทน"



บันไดขั้นที่ 2  "ความสามารถและการเติบโต"

  ทั้งที่ๆห่างกันเพียง 1 ปี แต่ในด้านความรู้สึกกลับดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คณะอยู่ที่เดิมแต่สายตาที่มองคณะกลับเปลี่ยนไป จากมุมมองของ"น้อง"สู่มุมมองของ"พี่" เวลาถูกเผาผลาญไปกับการทุ่มเทให้กับงานสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง  อาคารที่เริ่มใหญ่โตขึ้นสะท้อนสู่ความคิดที่ออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น

   การเริ่มต้นเดินบนเส้นทางของ"สถาปนิก"นักออกแบบอย่างจริงจังได้เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับ โปรเจคบ้านพักอาศัย 2 ชั้น ถึงแม้ว่าในปี 1 วิชา Design อาจจะไม่ใช่วิชาโปรด หากแต่ความรู้สึกที่ได้หยิบจับงานที่เป็นรูปธรรมอย่างอาคารพักอาศัยก็สร้างความบันเทิงให้ฉันไม่ใช่น้อย ความสนุกที่ได้คิดและเชื่อมโยงพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ได้แก้โจทย์ที่เรียกว่า"Function" ทำให้ฉันค่อนข้างมั่นใจว่า"ทางที่เดินมานั้น ถูกต้องแล้ว" ถึงแม้ว่าเวลาที่ได้ใช้ในการพักผ่อนจะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ความรู้ที่ได้รับกลับมาขึ้นเป็นเท่่าตัว ชีวิตในมหาลัยเปลี่ยนไป การทำงานส่วนใหญ่กลายเป็นการทำงานที่หอแล้วนำมาส่งเพราะ "บ้านหลังที่ 2 " หรือ "Studio 1" นั้นได้ถูกส่งต่อให้กับรุ่นน้องเป็นที่เรียบร้อย จากเด็กปี 1 ที่เคยนั่งทำงานอยู่ในสตู บัดนี้ได้กลายเป็นพี่ที่เป็นคนเดินมาสอนงานน้องเสียแล้ว ทุกครั้งที่เดินไปหาน้องก็อดจะนึกถึงช่วงเวลาปี 1 ไม่ได้ ภาพที่ฉันไปช่วยงานพี่สาว กลับถูกซ้อนทับด้วยเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เสียงแหบๆคนหนึ่ง ที่นั่งตัดโมเดลอย่างขมักเขม่น กับน้องสาวร่วมหอที่ติดตามชีวิตการเดือดของฉันมาตลอด

ชีวิตปี 2 ในมหาลัยเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น เหมือนเสียงเพลงที่เริ่มดำเนินเข้าสู่ท่อนฮุค


บันไดขั้นที่ 3  "ใครว่าชิว....โดนหลอกแล้วแหละ"

  การเปลี่ยนแปลงไหลไปอย่างช้าๆเนิบๆ ความคิดอ่านที่เพิ่มขึ้นนำมาซึ่งความสามารถด้านการจัดการ แนวความคิดเริ่มเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น เหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ชีวิตของสุนัขที่ถูกเรียกขานว่า"หิมะ"จากไปอย่างไม่มีวันกลับมา  และสายน้ำที่เอ่อท่วมเข้าเมืองกรุงสอนให้รู้ว่าการเป็นสถาปนิกไม่ช่วยอะไร

  วลีเด็ดดวงประจำปี 3 คงจะหนีไม่พ้น " ปี 3 ชิว " หรือ "ปี 3 สบาย" หากแต่ในชีวิตจริงนั้นมันกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่โฆษณาเอาไว้แม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าชีวิตพื้นฐานนั้นจะค่อนข้างจะเบาสบายกว่าช่วงปี 2 มากนัก แต่จุดพีคของการทำงาน เรียกได้ว่าทะลุเป้ากันเลยทีเดียว ในความทรงจำของฉันยังคงจดจำภาพที่เกิดขึ้นในบ่ายวันอังคาร ที่กลุ่มตรวจแบบ 10 นั่งล้อมพร้อมไว้อาลัย "ตารางงาน" ที่ต้องส่งและไปตรวจแบบสายยกกลุ่มได้อย่างติดตา งานส่วนใหญ่ในชั้นปีนี้จะเน้นไปที่งานกลุ่มที่ต้องการการจัดการที่ดีและการสื่อสารกันของคนเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเป็นงานกลุ่ม สิ่งที่ตามมาคือการบริหารเวลาของคนหลายคนที่ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ความคิดที่ขัดแย้งกัน ในช่วงปี 3 นี้จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่อารมณ์ความรู้สึกรุนแรง ความคิดเรื่องอนาคตเริ่มเข้ามามีบทบาท



"เป็นสถาปนิก ต้องรู้จักเที่ยวให้เยอะๆ เปิดมุมมองให้มากๆ"

ประโยคเรียบง่ายถูกเอ่ยด้วยน้ำเสียงติดขบขันเล็กๆ ของอาจารย์หนุ่มใส่แว่นยิ้มเก่ง กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจอันยิ่งใหญ่ในช่วงปิดเทอม นั่นคือ การเดินทางไปทำงาน part-time ที่อเมริกา หรือ work and travel นั่นเอง

  ภาษากลายเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตโดยทันที "Six Flags The Great Adventure ,NJ" เป็นชื่อสถานที่ๆฉันได้ไปทำงาน ด้วยตำเหน่ง "Game host" ซึ่งมีหน้าที่เรียกลูกค้า อธิบายกฎกติกาต่างๆ รวมถึงคอบควบคุมดูแลบูธของตัวเอง ถึงแม้เนื้องานจะเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ทำมาตลอด 3 ปีแต่ก็ถือเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับคนที่อ่อนภาษาอังกฤษอย่างฉัน ฉันใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 2 เดือน เหตุการณ์มากมายผ่านไปเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งรูมเมทสาวสวยจากเอเบคที่ชีวิตต่างจากฉันโดยสิ้นเชิง เรื่องราวการขโมยของในหมู่บ้านคนไทย(เรียกว่าจอมโจรเลยดีกว่า ขโมยไปเหยียบแสนกว่าบาท) การเอื้อเฟื่อต่อกันของคนไทยในต่างแดน วิถีชีวิตและลักษณะนิสัยของคนต่างชาติ ทุกๆอย่างได้สอนฉันถึง การรับมือกับสถาณการณ์ต่างๆ  การบริหารเงิน บริหารเวลา การอ่านแผนที่ ภาษาและการสื่อสารกลายเป็นเรื่องอันดับ1 แทนที่จะเป็นเรื่องความรู้ จนฉันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า"ฉันอยากเป็นสถาปนิกจริงๆเหรอ?"

ฉันกลับมาที่ประเทศไทยพร้อมกับคำถามนั้น.....คำถามง่ายๆที่ดูยากจะหาคำตอบ....




บันไดขั้นที่ 4 "การเตรียมตัวที่จะโผบิน"

   ความสับสนเริ่มเพิ่มมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เริ่มเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ อนาคตที่คิดว่าห่างไกลเริ่มใกล้เข้ามาทุกที ความหนักหน่วงที่ไม่เคยเจอมาก่อน

  การอยู่ที่อเมริกาและโดดกลับมาที่ประเทศไทยเป็นการเปลี่ยนอารมณ์แบบ 360 องศาเลยทีเดียว แต่ก็คงปฎิเสธไม่ได้ว่าอยู่ประเทศไทยก็สบายใจมากกว่า ในช่วงปี 4 เป็นปีที่ได้รับการร่ำลือถือความทรหดมานักต่อนัก.....แต่......ก็ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ !!!!!  เป็นจังหวะชีวิตที่หันหลังกลับไม่ทันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าถ้าคณะอื่นก็จะจบแล้ว การเรียนนั้นเป็นการรวมเอาความยิ่งใหญ่ของชิ้นงานมาผสานกับงานกลุ่มสอดแทรกด้วยความเป็นมืออาชีพ ความรู้ความเข้าใจทุกอย่างที่เคยร่ำเรียนมาถูกนำมาประมวลผลเป็นชิ้นงาน และก็ถือว่าเป็นปีที่ท้อแท้ และท้อถอยมากที่สุดก็ว่าได้ แต่ทุกครั้งเวลาที่เหนื่อยที่ท้อมากๆ เมื่อเกิดความคิดที่จะยอมแพ้ ภาพของรุ่นพี่ทุกๆคนก็จะแล่นเข้ามาในหัวพร้อมกับประโยคที่ว่า " รุ่นพี่ทุกคน อาจารย์ทุกท่าน ผ่านช่วงชีวิตแบบนี้มาแล้วทั้งนั้น คนมากมายที่สามารถข้ามผ่านจุดๆนี้มาได้ แล้วเหตุผลอะไรล่ะถ้าเราจะยอมแพ้  " การที่มองแผ่นหลังของคนที่อยู่ข้างหน้าบางทีก็เป็นแรงผลักดันให้เราลุกขึ้นวิ่งต่อไปได้เหมือนกัน

  ในช่วงปิดเทอมสุดท้ายของชีวิตฉันก็ตัดสินใจในการเข้ารับการฝึกงานที่บริษัท design 103 ซึ่งเป็นบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่ด้วยเหตุผลถึงความต้องการจะเรียนรู้ระบบต่างๆ รวมถึงเป็นการช่วยในการตอบคำถามที่ยังคาใจว่า นี่จะใช่วิถีทางของเราจริงหรือเปล่า เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในอนาคต และฉันหวังว่าคำถามที่ยังคงคาใจน่าจะได้รับคำตอบที่ดีเร็วๆนี้

บันไดขั้นสุดท้าย บันไดขั้นที่ 5 "อนาคตที่อยู่แค่เอื้อม"

 บันไดขั้นสุดท้ายที่ตัวฉันในตอนนี้ยังเดินไปไม่ถึง การปิดฉากการเรียนในคณะสถาปัตย์ ลาดกระบังแห่งนี้ ฉันตั้งใจจะจบมันลงด้วยโปรเจคตัวสุดท้าย ที่จะเป็นการทุ่มเทความเป็นตัวฉันและทุกสิ่งที่ฉันมีลงไปอย่างสมบูรณ์ และโครงการที่ฉันสนใจก็คือ "ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะร่วมสมัย" สิ่งนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นมาตรงตามที่ได้เรียนในวิชา programmingเท่าไรนัก แต่เกิดจากการตอบคำถามที่ฉันตั้งกับตัวเองว่า"งานสถาปัตยกรรมสิ่งใดที่คิดว่าสำคัญที่สุด?"  และคำตอบของฉันคือ "Space" ซึ่งหัวข้อนี้ก็มีแรงบันดาลใจมาจาก MoMa ตอนฉันไป New York ซึ่งอาคารภายนอกมีรูปลักษณ์ที่ธรรมดากลมกลืนไปกับตึกแถว หากแต่การจัดวางพื้นที่ใช้สอยภายในนั้นมีความน่าสนใจแตกต่างจากกล่องสี่เหลี่ยมภายนอกอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งสมัยนี้ตลาดศิลปะในไทยมีการเปิดกว้างมากขึ้น การท่องเที่ยวเจริญเติบโต การเปิดสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศิลปะก็น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

     เวลาหมุนไปไม่เคยหยุดนิ่งดังสายน้ำที่ไหลเวียน พร้อมกับรุ่งเช้าที่กำลังจะมาถึง น่าตลกดีที่การเขียนเรียงความเรื่องนี้กลับกินเวลายาวนานเกือบครึ่งคืน  บางทีเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตตลอด 4 ปี ก็อาจจะมากเกินกว่าจะสามารถร้อยเรียงได้จบภายในเวลาอันสั้น วิชาชีพสถาปนิกนั้นเป็นวิชาชีพก็เกี่ยวเนื่องอยู่กับคน การใช้สอย ความสวยงาม การผสานสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นเนื้อเดียวกันหากแต่ก็ใช่ว่าจะสวยงามเสียทีเดียว สถาปนิกต้องยอมรับความหนักหน่วงของ"ความรับผิดชอบ"ในชีวิตหลายๆชีวิตที่ฝากเอาไว้ในอาคาร เป็นผู้ออกแบบวิถีชีวิต ถือว่าเป็นภาระหน้าที่อันใหญ่หลวง คนๆหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลในในการทำงานให้ฉันคงจะหนีไม่พ้น Frank lloyd wright ต้นคิดเรื่อง organic architecture ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ แฟรงค์มักจะคิดถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบในพื้นที่นั้นๆรวมถึงความเหมาะสมในการออกแบบไปด้วยเสมอๆ ความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมีมากมายจนนับไม่ถ้วน




 สำหรับฉันอนาคตถือว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่แน่นอน ฉันเคยวางแผนไว้เล่นๆว่า อยากทำงานเป็นสถาปนิกดูสัก 2 ปี ก่อนจะตัดสินใจในขั้นต่อไปว่าจะเรียนต่อ หรือ เปลี่ยนแปลงไปทำงานอื่นแทน แต่ไม่ว่าทางเลือกจะเป็นอย่างไรฉันเชื่อว่าการเรียน คณะสถาปัตย์ 5 ปีที่ผ่านมานี้จะไม่เปล่าประโยขน์อย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุด ความสามารถด้านความอดทนในการทำงาน ระบบการคิกการจัดการ หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหา ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวิชาชีพอื่นได้

   ย่อหน้าสุดท้าย....เป็นเหมือนละครตลกร้าย คุณพ่อของฉันไม่ได้สลับสนุนการเรียนในวิชาชีพนี้เสียเท่าไหร่ เหตุผลนั่นฉันจะไม่ค่อยจะรู้มากนัก ในสมัยเด็กของฉันท่านเคยเปิดบริษัทรับเหมาเป็นของตัวเอง แล้วก็ล้มไม่เป็นท่าด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนสู้คนเป็นคนไม่เคยยอมแพ้ หรือแม้แต่จะก้มหัวให้ใคร ท่านใช้เวลา 2-3 ปีในการหาอาชีพใหม่ ภาพที่ท่านทำงานคงจะกลายเป็นเรื่องชินตาในบ้านไม้เก่าๆติดริมถนนใหญ่ย่านฝั่งธนไปแล้ว  แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้ฉันกับพ่อไม่ได้สนิทกันเท่าที่ควร อาจจะเป็นความกลัวด้วยครึ่งหนึ่งกระมัง ท่านชอบดุด่าว่ากล่าวด้วยเสียงดัง หากท่านไม่พอใจใจตอนที่ฉันยังเล็ก จนกลายเป็นความทรงจำฝังใจ จนทำให้เราคุยกันน้อยลงจนแทบไม่คุยกัน

  บางครั้งคนเราก็มักจะคิดอะไรหลายๆอย่างได้ช้าไปเสมอ ในช่วงต้นปี 1 หลังจากที่ฉันได้เข้ามาเรียนที่นี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว "พ่อออกจากบ้านไปแล้วนะ" คำพูดที่สั่นเครือของแม่ที่ดังมาจากโทรศัพท์มือถือ ทำฉันอึ้งไปพักใหญ่ ก่อนจะตอบรับด้วยน้ำเสียงที่ดูเหมือนปกติที่สุด หลังจากนั้นพ่อก็มาหาฉันที่หอบ้างเป็นครั้งคราว เดี๋ยวนี้ท่านก็ยังไม่ได้ส่งเสริม แต่ก็ไม่ได้คัดค้านกับทางเดินที่ฉันเลือกเท่าไหร่ จนถึงเดี๋ยวนี้ถึงเราจะแทบไม่ได้เจอกัน แต่ฉันก็แน่ใจว่า ท่านรักฉันมาก และยังคงเฝ้าดูฉันห่างๆอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าครอบครัวเราจะไม่สมบูรณ์พร้อม ฉันก็ไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นปมด้อยแต่อย่างใด ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ฉันตั้งใจเพื่อเป็นเสาหลักของครอบครัวในฐานะลูกสาวคนโตให้จงได้
"โอ๊ตเป็นลูกสาวคนโต ถึงแม้จะเป็นผู้หญิง แต่ก็ต้องดูแลม๊า ดูแลน้องนะ ดูแลแทนป๊าด้วยล่ะ"
คำพูดที่พ่อคอยย้ำเตือนเรื่อยมาเพื่อให้ฉันเข้มแข็งและเอาชนะอุปสรรคทั้งหมดไปได้